ถ้ำเขามอพระฤาษี
ในเรื่องของประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทยนั้น เรื่องที่จะละเลยโดยไม่คำนึงถึงเลยไม่ได้คือ เรื่องของครูบาอาจารย์ เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะทำอะไรก็ตาม คนไทยมักจะนิยมยกครู ไหว้ครู ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ ครูแพทย์แผนไทยก็จะเหมือนกับครูสาขาอื่นๆ ของไทย กล่าวคือพระฤาษี เปรียบเสมือนนักปราชญ์นักพรต ที่เข้าไป ทำงานในป่าในดง ไปศึกษาวิชาอาคม เมื่อศึกษาเป็นที่ชัดเจนถ่องแท้ก็จะมีลูกศิษย์ไปเล่าเรียนด้วย กล่าวได้ว่า มหาวิทยาลัยของไทยแต่เดิมนั้นอยู่ในป่า อยู่ในชนบท ไม่ใช่อยู่ในเมืองเหมือนอย่างทุกวันนี้ และเมื่อเราทบทวนในตำรับ ตำราต่างๆ พระคัมภีร์ต่างๆ จะพูดถึงพระฤาษีต่างๆ ผู้รจนา คัมภีร์ หรือข้ออ้างอิงเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ประวัติ ของยาเบญจกูล ก็ยังพูดถึงฤาษี ถึง ๙ ตน ได้แก่ มหาเถรตำแย พระอาจารย์ฤทธิยาธร พระฤาษีอมรสิทธิดาบส พระฤาษีนารท พระฤาษีสัชนาลัย พระฤาษีตาวัว พระฤาษีตาไฟ พระฤาษี กัสยะปะ พระฤาษีสิงขะ พระฤาษีประลัยโกฏิ พระอาจารย์ โรคามฤดินทร์ พระอาจารย์ชีวกโกมารภัจจ์ และพระอาจารย์ทางแพทย์ศาสตร์
กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันการแพทย์แผนไทย ทำการรวบรวมฤาษีดัดตนขึ้นมาใหม่ ด้วยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของกายบริหารแบบไทย สถาบันการแพทย์แผนไทยจึงได้ทำการรวบรวมรูปภาพและทบทวนคำกลอนจากสมุดข่อยสีดำ รวมทั้งนำคำกลอนและรูปภาพของคนยุคต่อมาที่เขียนติดไว้ในตำราวัดโพธิ์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการติดความคำกลอนผิดไปจากเดิม และบางคำกลอนตีความเป็นรูปภาพใหม่ๆ จึงทำให้เกิดรูปภาพและคำกลอนประกอบท่าฤาษีดัดตนรวมเป็น ๑๒๗ ท่า ซึ่งปัจจุบันสถาบันการแพทย์แผนไทยได้จัดทำขึ้นเป็นรูปปั้นฤาษีดัดตนด้วยเนื้อไฟเบอร์กลาสขนาดเท่าคนจริงประดิษฐานบนเขามอฤาษีจำลอง ประดับตกแต่งด้วยไม่สมุนไพรอย่างงดงาม โดยภายในเขามอแห่งนี้ได้จัดทำเป็น ถ้ำเลียนแบบธรรมชาติอย่างงดงาม จัดวางฤาษีดัดตนได้ท่าทาง ต่างๆไว้ อย่างกลมกลืน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าแสวงหาความสงบสุข นั่งสมาธิ ฝึกจิตได้อีกด้วย