ศาลา ๑ พุทธศาสนากับการแพทย์แผนไทย
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา
ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนามาตั้งแต่ ครั้งอดีต ชนกลุ่มแรก ที่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นพุทธศาสนิกชน คือ กลุ่มชนในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ เมื่อมีการสถาปนา อาณาจักรสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งถือว่า เป็นรัฐไทยแห่งแรกบนผืนแผ่นดินนี้ พุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของชาติ และพุทธศาสนายังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยสืบต่อมาในสมัย อยุธยาจนกระทั่งปัจจุบัน
พุทธศาสนาโดยเฉพาะลัทธิมหายาน ได้เจริญสูงสุดในช่วงกลาง พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พระองค์ทรงนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน และได้ทรง ขยายอาณาเขตออกไปนอกประเทศกัมพูชา ครอบคลุมมาถึงส่วนหนึ่งของประเทศไทย พระองค์ได้สร้างธรรมศาลาขึ้นเป็น ที่พักของนักจาริกแสวงบุญ รวมทั้งสร้างอโรคยาศาลมากกว่า ๑๐๐ แห่ง เพื่อรักษาคนป่วยทั้ง ๔ วรรณะ โดยสถานพยาบาล ดังกล่าวนี้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของพระพุทธเจ้าผู้รักษาโรค ได้แก่ พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา หรือพระผู้รักษาโรคผู้มีประกายแห่งไวฑูรย์ แสดงว่าพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภา เป็นพระพุทธเจ้าแพทย์ ซึ่งชาวเขมรเคารพนับถือมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยนิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ มีผอบที่มีฝาปิดอยู่ในพระหัตถ์
จากการสำรวจทางโบราณคดีที่พบโบราณสถานหลายแห่งในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่คาดว่า น่าจะเป็นสถานพยาบาลหรืออโรคยาศาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เพราะได้พบพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา ภายในโบราณสถานเหล่านั้นด้วย เช่น ปรางค์กู่ จังหวัดชัยภูมิ กู่สันตรัตน์ จังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพล ของพุทธศาสนานิกายมหายาน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ที่แผ่เข้ามายังดินแดนไทย
หมอชีวกโกมารภัจจ์ ปฐมครูด้านการแพทย์แผนไทย
แพทย์แผนไทยนับถือและยกย่องหมอชีวกโกมารภัจจ์ ว่าเป็นปฐมครูผู้รอบรู้ในศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทยทุกแขนง หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งแคว้นมคธ และเป็นหมอประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ผู้เป็นพุทธ สาวกทั้งหลาย ประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นเรื่องราวประวัติการแพทย์สมัยพุทธกาล ที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ในพระไตรปิฎก โดยได้มีบันทึกผลงานการรักษาโรคของหมอชีวกโกมารภัจจ ์ ครั้งสำคัญๆ หลายครั้ง ได้แก่ การรักษาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ซึ่งป่วยเป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรัง ด้วยการผ่าตัดที่ศีรษะ การผ่าตัดรักษาโรคลำไส้ขอดของลูกเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี การรักษาพระโรคผอมเหลืองของพระเจ้าจัณฑปัชโชต (ผู้ครองกรุงอุชเชนี) การผ่าตัดบาดแผลที่พระบาท ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดจากพระเทวทัตกลิ้งหินให้ทับพระองค์ และสะเก็ดหินแตกมาถูก ทำให้ห้อพระโลหิต
หมอชีวกโกมารภัจจ์ มีคุณูปการทั้งในด้านอาณาจักรและพุทธจักร พระพุทธเจ้าจึงได้ประทานเอตทัคคะให้แก่ หมอชีวกโกมารภัจจ์ เมื่อคราวประทับอยู่ที่เชตวัน กรุงสาวัตถี โดยได้รับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาอุบาสก ผู้เป็นสาวกของตถาคต ซึ่งเป็นผู้มีความเลื่อมใสในบุคคล ชีวกโกมารภัจจ์เป็นเลิศ”