ห้อง ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย
“๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย ๑๐๐ ปี แห่งการพัฒนา”
นับจากอดีต การแพทย์และการสาธารณสุขไทย ได้พัฒนาจากการแพทย์แผนโบราณ สู่การแพทย์และการสาธารณสุข ตามอย่างสากลที่ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ เพื่อรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น ในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามเจริญรุ่งเรืองและมีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความแออัด อันเป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดรุนแรงขึ้นบ่อยครั้ง แต่ละครั้งมีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ก่อตั้งกรมสาธารณสุข ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยขึ้น เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๑ โดยมี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า รังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นอธิบดีคนแรก ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสาธารณสุขยุคใหม่อย่างแท้จริง
มุ่งเน้นการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะโรคระบาด อีกทั้งการศึกษาวิทยาการสมัยใหม่จากต่างประเทศ โดยร่วมมือกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ รัฐบาลคณะราษฎร ให้ความสำคัญต่อการสาธารณสุขและการขยายความเจริญไปสู่หัวเมืองท้องถิ่นมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พุทธศักราช ๒๔๗๗ อันเป็นรากฐานของการสาธารณสุขยุคใหม่
ตลอด ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย นับเป็น ๑๐๐ ปี แห่งการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการรักษาพยาบาล ด้านสวัสดิการ การรักษาพยาบาล ด้านการป้องกันและควบคุมโรค ด้านการอนามัยและการส่งเสริมสุขภาพ ด้านยา เวชภัณฑ์ วิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการแพทย์แผนไทย เพื่อรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพให้กับคนในชาติ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความเจริญ ของประเทศ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า
“…ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือ พลเมืองนั่นเอง…”
จากอดีตที่มุ่งเน้นการรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรค เข้าสู่ยุคแห่งการเสริมสร้างสุขภาพตามพระราชบัญญัติ สุขภาพแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๐ ด้วยแนวทาง “สร้างนำซ่อม” โดยการส่งเสริมให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมสุขภาวะอย่างแท้จริง
การแพทย์และสาธารณสุขไทยในยุค ๔.๐ พร้อมก้าวเดินไปสู่ศตวรรษ ใหม่ในความเปลี่ยนแปลงของโลก ภายใต้บริบทใหม่ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ผนวกกับปัญหาสุขภาพใหม่ๆ ที่ประเทศไทยต้องเผชิญล้วนแต่เป็นความท้าทายในการก้าวสู่ศตวรรษที่สองของการสาธารณสุขไทย