หอพระ
พุทธศาสตร์และการแพทย์แผนไทยนั้น ต่างสัมพันธ์สอดคล้องต้องกันหนอ ทั้งรูปนามธาตุขันธ์นั้นต้นตอ เชื่อมโยงต่อคือชีวิตเป็นนิจมา แพทย์แผนไทยใส่ใจทั้งกายจิต ในองค์รวมของชีวิตเหมือนดังว่า ทั้งเกิดแก่เจ็บตายวายชีวา ภูมิปัญญาช่วยดับร้อนให้ผ่อนคลาย หอพระพุทธสิหิงค์เป็นมิ่งขวัญ ขอเชิญท่านจรมาหาความหมาย พุทธศาสตร์การแพทย์นั้นเหนือบรรยาย ในกลิ่นอายของความขลังพลังมนตร์ พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา พุทธแพทย์อัญเชิญมามหากุศล พระประจำวันอีกทั้งเจ็ดเป็นมงคล ประดิษฐานเพื่อมวลชนได้บูชา ขอพรให้พ้นทุกข์โศกและโรคภัย ดีพร้อมพลานามัยกันถ้วนหน้า ขอขวัญจงมาสู่ท่านนะขวัญมา ให้สุขสมปรารถนาชั่วกาลนาน |
ลักษณะการจัดแสดงภายในหอพระ
แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันระหว่างพระพุทธศาสนากับการแพทย์แผนไทยหรือเรียกว่า “พุทธศาสน์การแพทย์”
พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเป็นรากฐานสำคัญของสังคมชาวสยามมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล วัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อต่าง ๆ รวมทั้งการแพทย์ก็เช่นเดียวกัน ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น โรคภัยไข้เจ็บและการบำบัดรักษาโรคในทัศนะของพระพุทธศาสนานั้น เป็นระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่อาศัยซึ่งกันและกัน เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่สืบทอดต่อเนื่องกัน อันเป็นหลักทั่วไปในพระพุทธศาสนาที่สอดคล้องกันหมด ไม่ว่าจะเป็นหลักอริยสัจ ๔ หลักไตรลักษณ์ หลักปฏิจจสมุปบาท หรือหลักขันธ์ ๕ ก็ล้วนแล้วแต่สนับสนุนแนวคิดนี้ทั้งสิ้น
ชีวิตในพระพุทธศาสนา คือ ขันธ์ ๕ อันประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รูปยังแบ่งออกเป็น มหาภูตรูป ๔ และอุปทายรูป ๒๔
มหาภูตรูป ๔ อันประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งธาตุทั้ง ๔ นั้นเป็น พื้นฐานสำคัญของแพทย์แผนไทย อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าความเชื่อในพระพุทธศาสนาเป็นหลักสำคัญของการแพทย์แผนไทย แต่ก็มีความเชื่ออื่น ได้แก่ ความเชื่อ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และความเชื่อพื้นเมืองเข้ามาผสมผสานกลมกลืนกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา อันเกิดจากภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของบรรพชนที่ได้รับและปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมจากภายนอกให้เหมาะสมกับภูมิศาสตร์และสังคมของตนเองแล้วมีการสั่งสมความรู้ประสบการณ์และสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วคน จนกลายเป็นภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยดังที่เห็นในปัจจุบัน
หอพระแห่งนี้ภายในเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพเทพชุมนุมชัยมงคลคาถา ขันธ์ ๕ ธาตุ ๖ และภาพทศชาติชาดก ในห้องนำเสนอการจัดโต๊ะหมู่บูชา มีพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ในบุษบกเป็นพระประธาน ตามตำนานสิงคนิทานกล่าวว่า สร้างขึ้นที่ลังกาทวีป เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่งของประเทศสยาม
ส่วนบนโต๊ะหมู่บูชา เป็นที่ประดิษฐานพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในพุทธศาสนามหายานในภัมภีร์ลลิตวิสตระกล่าวว่าพระองค์เป็นแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้ซึ่งปลดเปลื้องความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานของมวลมนุษย์โลกโดยนำเข้าสู่กระแสแห่งนิพพาน พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา จึงได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า "พระพุทธเจ้าแพทย์" นอกจากนี้ยังมีพระประจำวันทั้ง ๗ เป็นพระประจำวันที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางโหราศาสตร์เรื่องดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศูกร์ และเสาร์ ที่มีเทพประจำดวงดาวทั้ง ๗ เชื่อว่ามีอิทธิพลต่อโชคชะตาราศีของมนุษย์ โบราณาจารย์จึงได้เลือกสรรพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะแก่เหตุการณ์และชีวิตของคนแล้วสร้างเป็นพระประจำชีวิตสำหรับสักการะบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต นิยมสร้างตามกำลังวันทั่วไป ดังนี้
พระประจำวันเกิด | วันอาทิตย์ | คือ | พระปางถวายเนตร |
พระประจำวันเกิด | วันจันทร์ | คือ | พระปางห้ามญาติ |
พระประจำวันเกิด | วันอังคาร | คือ | พระปางไสยาสน์ |
พระประจำวันเกิด | วุันพุธกลางวัน | คือ | พระปางอุ้มบาตร |
พระประจำวันเกิด | วันพุธกลางคืน | คือ | พระปางป่าลิไลยก์ |
พระประจำวันเกิด | วันพฤหัสบดี | คือ | พระปางสมาธิ |
พระประจำวันเกิด | วันศุกร์ | คือ | พระปางรำพึง |
พระประจำวันเกิด | วันเสาร์ | คือ | พระปางนาคปรก |
พุทธศาสนากับการแพทย์แผนไทย
ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งอดีต ชนกลุ่มแรกที่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นพุทธศาสนิกชน คือ กลุ่มชนในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16 เมื่อมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งถือได้ว่าเป็นรัฐไทยแห่งแรกบนผืนแผ่นดินที่พุทธศาสนาก็เป็นศาสนาหลักของชาติและพุทธศาสนายังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยสืบต่อมาในสมัยอยุธยา จนกระทั่งปัจจุบัน